วันอังคารที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

กระบวนทัศน์ใหม่พัฒนาที่อยู่อาศัยไทย

  การเคหะแห่งชาติได้จัดสัมมนานานาชาติ "กระบวนทัศน์ใหม่ของการพัฒนาที่อยู่อาศัยและเมืองในประเทศไทย" โดยร่วมกับองค์กรพัฒนาเมืองระดับสากล PRCUD สหรัฐ เป็นหนึ่งในกิจกรรมครบรอบ40 ปีของการเคหะแห่งชาติ

          การสัมมนานี้เป็นการสัมมนาโต๊ะกลม มีผู้เชี่ยวชาญนานาชาติจากPRCUD และจากไทยร่วมอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น วิธีการดำเนินการ ตลอดจนแนวทางการพัฒนาที่อยู่และพัฒนาเมืองอย่างกว้างขวาง โดยมีบทสรุปข้อเสนอแนะในหัวข้อต่างๆ ประกอบด้วย

          1.การพัฒนาเมืองและที่อยู่อาศัยตามแนวทางการพัฒนาตามโครงข่ายคมนาคมและโครงสร้างขั้นพื้นฐาน ที่ประชุมเสนอให้การเคหะแห่งชาติพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยบริเวณสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนโดยด่วน เพื่อพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนรวมทั้งพัฒนากลไกด้านการเงิน เช่น การอุดหนุนข้ามกลุ่มรายได้ การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ธนาคารที่ดิน เป็นต้น

          สำหรับการพัฒนาที่ดินบริเวณสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนนั้น การเคหะแห่งชาติควรขยายอาณาเขตพื้นที่ให้เชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชนอื่นควรขอเพิ่มการกำหนดสัดส่วนพื้นที่อาคารให้มีความหนาแน่น จากผังการใช้ประโยชน์ที่ดินของกรุงเทพฯ พื้นที่ที่จะพัฒนารอบสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนควรขยายอาณาเขตพื้นที่สถานีเพื่อจัดให้มีสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกโดยรอบ

          ทั้งนี้ โครงการที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติใกล้สถานีฯ ควรจำกัดพื้นที่จอดรถ เพื่อส่งเสริมให้ผู้อยู่อาศัยใช้ระบบขนส่งมวลชนพัฒนาพื้นที่ให้เดินเชื่อมต่อกันได้รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือกับภาคเอกชนจัดให้พัฒนาที่อยู่อาศัยที่มีความสมดุลกับแหล่งงาน และเสนอให้การเคหะแห่งชาติจัดทำโครงการนำร่อง

          2.การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เนื่องจากกฎหมายการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนจะใช้ในเร็วๆ นี้ สำหรับการร่วมลงทุนเรื่องที่อยู่อาศัยยังเป็นเรื่องใหม่การเคหะแห่งชาติต้องทำความเข้าใจบทบาท และธรรมชาติธุรกิจอย่างถ่องแท้

          เช่น การเจรจา การกำหนดราคา การอุดหนุนและภาษี ซึ่งการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นหุ้นส่วนในระยะยาว ดังนั้นภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องไว้วางใจซึ่งกันและกันในการดำเนินการ

          3.การบริหารจัดการเพื่อรองรับภาวะอุทกภัยและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเคหะแห่งชาติควรนำวิกฤตมหาอุทกภัยปี 2554 มาเป็นโอกาสเตรียมความพร้อมรับปัญหาอุทกภัย การบริหารจัดการน้ำเช่น ปรับปรุงทางน้ำ จัดให้มีพื้นที่โล่งและเมืองสีเขียว จัดให้มีสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และออกแบบอาคารเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการมีส่วนร่วมระดับชุมชน ผู้กำหนดนโยบาย ผู้พัฒนาสถาบันการเงิน รวมถึงองค์การระหว่างประเทศ เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และวางแผนชุมชนที่ป้องกันน้ำท่วมได้ การเคหะแห่งชาติควรทำโครงการนำร่องแสดงให้เห็นประโยชน์ที่จะได้รับ และควรริเริ่มรณรงค์และทำแผนส่งเสริมที่อยู่อาศัยและการพัฒนาเมืองสีเขียวสำหรับไทยในอนาคต

          4.การเงินเพื่อที่อยู่อาศัยไทยจำเป็นต้องทำนโยบายที่อยู่อาศัย การเคหะแห่งชาติควรมีบทบาทกำหนดนโยบายที่อยู่อาศัยของประเทศ การก่อสร้างที่อยู่อาศัย หมายถึงการสร้างงานและการจ้างงาน มีผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 10-15 การก่อสร้างที่อยู่อาศัย จึงมิใช่เรื่องการจัดให้มีอุปทานเท่านั้นแต่รวมถึงการตั้งถิ่นฐาน และจัดระเบียบชุมชนด้วย

          การเคหะแห่งชาติควรส่งเสริมภาคเอกชนทำกิจการความรับผิดชอบต่อสังคม จัดให้มีที่อยู่อาศัยแก่พนักงาน ควรร่วมมือกับธนาคารอาคารสงเคราะห์และสถาบันการเงินมากขึ้น ควรพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยกลุ่มเป้าหมายที่ราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท รอบสถานีระบบขนส่งมวลชน ซึ่งภาคเอกชนยังไม่ได้พัฒนา โดยนำเครื่องมือพัฒนากายภาพและการเงินมาปรับใช้

          5.การพัฒนาเมือง การวางผังเมือง และการพัฒนาระบบบริการขั้นพื้นฐานของเมือง ปัจจุบันเมืองใหญ่ของไทย เช่น กรุงเทพฯ มีลักษณะซับซ้อน มีหน่วยงานเกี่ยวข้องหลายหน่วย ควรศึกษาและพิจารณาสร้างมูลค่าเพิ่มจากการลงทุน สาธารณูปโภคและสาธารณูปการ นำมูลค่าที่เพิ่มขึ้นมากระจายคืนสู่ประชาชน การเคหะแห่งชาติควรเจรจากรุงเทพฯ ขอเพิ่มอัตราความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่

          ปัจจุบันนโยบายพัฒนาเมืองยังไม่ชัดเจน อาจต้องพัฒนาถึงรูปแบบเมืองหลายศูนย์กลางและเชื่อมโยงกันด้วยระบบขนส่งมวลชน

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น