วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ธารน้ำแข็งกรีนแลนด์แตกอีกแล้ว



 

                           ธารน้ำแข็งเพเทอร์มานน์ หนึ่งในธารน้ำแข็งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดนอกชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะกรีนแลนด์ เกิดการแตกออกกลายเป็นภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่เป็นสองเท่าของเกาะแมนฮัตตัน

                           นักวิทยาศาสตร์ได้เฝ้าสังเกตการณ์รอยร้าวที่มีความยาว 24 กิโลเมตรของธารน้ำแข็งเพเทอร์มานน์ มาตั้งแต่ปี 2544 แล้ว กระทั่งดาวเทียมอะควา ของนาซา ที่โคจรอยู่แถบขั้วโลก จับภาพการแตกตัวออกมาอย่างสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 16-17 กรกฎาคมที่ผ่านมานี้เอง กลายเป็นภูเขาน้ำแข็งครอบคลุมพื้นที่ 120 ตารางกิโลเมตรนักสมุทรศาสตร์กล่าวว่า การหลอมละลายของธารน้ำแข็งเกิดขึ้นที่ความลึกลงไป 600 เมตร ซึ่งน้ำอุ่นกว่าบนผิวน้ำ จึงเป็นกระบวนการที่ไม่สามารถมองเห็นได้   นักวิทยาศาสตร์สงสัยว่า ปรากฏการณ์เหล่านี้ อาจเป็นเพราะภาวะโลกร้อน แต่ก็ไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจน แม้ว่าธารน้ำแข็งทางใต้ของเกาะกรีนแลนด์จำนวนมากหลอมละลายในอัตราที่รวดเร็วอย่างผิดปกติ นอกจากนี้ จากข้อมูลยังพบว่า อาร์คติกเผชิญกับการหลอมละลายของทะเลน้ำแข็งมากเป็นประวัติการณ์เมื่อเดือนมิถุนายน      แม้การแตกตัวของธารน้ำแข็งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับธารน้ำแข็งเพเทอร์มานน์ ในช่วงสองสามปีมานี้ สร้างความฉงนให้แก่ผู้เชี่ยวชาญ โดยเมื่อสองปีก่อน ธารน้ำแข็งเพเทอร์มานน์ก็แตกออกเช่นกัน กลายเป็นเกาะน้ำแข็งขนาด 250 ตารางกิโลเมตร  นักสมุทรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเดลาแวร์ นายอันเดรอัส มึนโชว์ กล่าวว่า สถิติใน 150 ปีที่มีอยู่ สะท้อนว่าเรากำลังเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน กระนั้น คาดว่าภูเขาน้ำแข็งขนาดมหึมาไม่น่าจะมีผลต่อระดับน้ำทะเล เนื่องจากมันลอยน้ำอยู่แล้วและไม่ละลาย แต่อาจจะเคลื่อนไปทางนอกชายฝั่งนิวฟาวด์แลนด์ ในประเทศแคนาดาช่วงใดช่วงหนึ่ง และอาจเป็นอันตรายต่อการเดินเรือ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น